ประวัติโรงพยาบาล

        ตั้งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกง ติดกับถนนมรุพงษ์ ห่างจากตัวเมืองหรือศาลากลางปัจจุบัน ประมาณ 1 กิโลเมตร  มีเนื้อที่ประมาณ 27 ไร่ แต่เดิมมีฐานะเป็นเพียงสุขศาลาชั้นหนึ่ง สร้างเมื่อ พ.ศ.2478 ในสมัยที่พระยาพิพัทธ์ภูมิเศษเป็นนายกเทศมนตรี โดยได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการจังหวัด และกรรมการอำเภอ พร้อมใจกันชักชวนคหบดี และผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลายร่วมใจกันบริจาคทรัพย์ก่อสร้างขึ้นเป็นสุขศาลาชั้นหนึ่ง  สังกัดอยู่กับเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา ปัจจุบัน มีเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่

       พัฒนาการเปลี่ยนแปลง

พ.ศ.2478 นางเจียม เงื่อมอื้อ และนางแถม เจียรศิลป์(คณาวุฒิ) ได้สร้างเรือนไม้ 2 หลังเป็นเรือนคนไข้ในและคนไข้นอก ภายในมีห้องเอกซเรย์และห้องผ่าตัดใหญ่รวมอยู่ด้วยทั้งหมด รับผู้ป่วยได้ 25 เตียง

พ.ศ.2482 เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา” ยังคงสังกัดอยู่กับเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา

พ.ศ.2493 กรมการแพทย์รับโอนกิจการมาดำเนินการ

พ.ศ.2507 สร้างตึกเอกซเรย์ ห้องผ่าตัด ต่อมาภายหลังดัดแปลงเป็น หอผู้ป่วยหนัก กายภาพบำบัด และอาชีวบำบัด

พ.ศ.2508 ประชาชนร่วมกันบริจาคสร้างตึกสงฆ์อาพาธ “พุทธโสธร 1” จำนวน 480,000 บาท

พ.ศ.2511 ได้รับเงินงบประมาณสร้างตึก 2 ชั้น 50 เตียง จำนวน 746,000 บาท ใช้เป็นหอผู้ป่วยตา หู คอ จมูก และตึกออร์โธปิดิกส์

พ.ศ.2513 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด บริจาคเงินสร้างตึก 2 ชั้น จำนวน 757,500 บาท ใช้เป็นหอผู้ป่วยเด็กและอายุรกรรม (ตึก2)

พ.ศ.2513 ได้รับเงินงบประมาณสร้างตึกผู้ป่วยนอก 2 ชั้น ต่อมาใช้เป็นตึกอำนวยการ

พ.ศ.2514 เริ่มให้บริการแผนก ตา หู คอ จมูก

พ.ศ.2514 ได้รับเงินงบประมาณสร้างตึกผู้ป่วยอายุรกรรม 2 ชั้น 50 เตียง (ตึก3)

พ.ศ.2517 ได้โอนย้ายมาสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ.2519 ได้รับเงินงบประมาณสร้างตึกขนาด 50 เตียง 1 หลัง เป็นตึกศัลยกรรม(ตึก5)ต่อมาใช้เป็นตึกตา หู คอ จมูก และอายุรกรรมหญิง1

พ.ศ.2520 ได้รับเงินงบประมาณและเงินบำรุงสร้างตึกรังสี จำนวน  2,714,200 บาท

พ.ศ.2521 ได้รับเงินงบประมาณสร้างตึกผ่าตัด 1 หลัง จำนวน 2,100,000 บาท

พ.ศ.2525 ได้รับเงินงบประมาณสร้างตึกสูตินรีเวช 2 ชั้น มีห้องผ่าตัด/ห้องพิเศษ/เตียงสามัญและเตียงเด็ก  จำนวน 5,060,000 บาท

พ.ศ.2525 เริ่มใช้เครื่องเอกซเรย์แบบ Fluoroscopy ภายใต้ความมืดเพื่อการตรวจพิเศษ

พ.ศ.2528 จัดซื้อเตียงผ่าตัดกระดูกพร้อมเครื่องมือ/เครื่องดูดเด็กด้วยระบบสุญญากาศ/เครื่องส่องตรวจลำไส้ส่วนล่างด้วยกล้องจุลทรรศน์

พ.ศ.2529 จัดซื้อเครื่องนึ่งฆ่าเชื้อชนิดอัตโนมัติ/เครื่องส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ

พ.ศ.2530 มีศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

พ.ศ.2531 ได้รับเงินบริจาคสร้าง “ตึกเฉลิมพระเกียรติ ภ.ป.ร.” โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการจัดหาทุนก่อสร้างซึ่งมีฯพณฯ ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นประธาน ร่วมกับประชาชนในจังหวัดฉะเชิงเทราและกรุงเทพมหานคร เป็นตึกพิเศษขนาด 22 ห้อง พร้อมอุปกรณ์ที่ทันสมัย จำนวน 8,183,940 บาท

พ.ศ.2533 ได้รับเงินงบประมาณรวมกับเงินบำรุงสร้างตึกผู้ป่วยนอก 2 ชั้น  จำนวน 4,800,000 บาท ซึ่งต่อมาใช้เป็นอาคารอำนวยการ

พ.ศ.2534 มีการใช้เครื่องเอกซเรย์ C-Arm เพื่อช่วยในการผ่าตัด

พ.ศ.2536 ได้รับเงินงบประมาณ 30,000,000 บาท ร่วมกับเงินบำรุง 2,762,000 บาท สร้างหอผู้ป่วย 4 ชั้น ขนาด 120 เตียง และได้รับสมทบจากการทอดผ้าป่าสามัคคี เป็นเงิน 16 ล้านบาทเศษ ใช้ชื่อว่า “อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า” ทำพิธีเปิดในวันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2537 ก่อนหน้านี้ได้ทำพิธีอันเชิญหลวงตาฤาษีมีที่อาศรมทรงไทยหลังใหม่

พ.ศ.2536 สร้างโรงผลิตน้ำดื่ม ซึ่งทำเป็นแห่งแรกในโรงพยาบาลของรัฐ

พ.ศ.2537 มีศัลยแพทย์ระบบประสาท

พ.ศ.2540 สามารถผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและข้อสะโพกเทียมได้

พ.ศ.2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารหลวงพ่อพระพุทธโสธร เมื่อ 6 มีนาคม 2540

พ.ศ.2541  สร้างอาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน 9 ชั้น มูลค่า 130 ล้านบาท

พ.ศ.2542 สร้างอาคารหลวงพ่อพระพุทธโสธร 9 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดอาคารหลวงพ่อพระพุทธโสธร เมื่อ 25 สิงหาคม 2542

พ.ศ.2543 เริ่มให้บริการห้องเอกซเรย์ฉุกเฉิน และเครื่องเลเซอร์ผิวหนัง

พ.ศ.2544 ให้บริการฝังเข็มเพื่อรักษาโรค เมื่อวันที่ 29  มกราคม 2544

พ.ศ.2549 ก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลผู้ป่วย 10 ชั้น ด้วยเงินบำรุงโรงพยาบาล จำนวน 149,550,000 บาท ระยะเวลาในการก่อสร้าง 840 วัน โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทราได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้ชื่อ “อาคารเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี”

พ.ศ.2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด “อาคารเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี” ในวันที่ 4 สิงหาคม 2551

พ.ศ.2554 เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพุทธโสธร” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2554 เพื่อเป็นการเชิดชูองค์หลวงพ่อพุทธโสธร ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา

พ.ศ.2556 ก่อสร้างอาคาร 14 ชั้น ด้วยเงินงบประมาณ จำนวน 466,000,000 บาท และเงินบำรุงโรงพยาบาล จำนวน 70,000,000 บาท  ตั้งชื่อเป็น ”อาคารสิริโสธรารักษ์”

พ.ศ.2560 ก่อสร้างอาคารสนับสนุน 8 ชั้น ด้วยเงินงบประมาณ จำนวน 121,852,200 บาท เริ่มเปิดใช้งานประมาณ ปลายปี พ.ศ.2563

พ.ศ.2560 ก่อสร้างอาคารพักพยาบาล 100 คสอ. 6 ชั้น ด้วยเงินงบประมาณ จำนวน 50,980,000 บาท เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่พยาบาลของโรงพยาบาล

พ.ศ.2564 ก่อสร้างอาคารศูนย์อุบัติเหตุและโรคหัวใจ 10 ชั้น ด้วยเงินงบประมาณ จำนวน 314,800,000 บาท ปัจจุบันกำลังก่อสร้าง สิ้นสุดสัญญา วันที่ 12 มกราคม 2567

พ.ศ. 2564 เปิดหอนนทรีให้บริการผู้ป่วยจิตเวช ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 

พ.ศ. 2565 เริ่มเปิดให้บริการโรงพยาบาลวัดสมานรัตนาราม (พุทธโสธร 2) โดยเปิดบริการ ตรวจโรคทั่วไป แผนไทย แผนจีน และทันตกรรม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565

พ.ศ. 2565 ปรับปรุง ภูมิทัศน์ อาคารสถานที่ทั้งภายในตึกและบริเวณรอบนอก ได้แก่ ปรับปรุงสถานที่จอดรถยนต์ภายในเขตบ้านพักโรงพยาบาล เพิ่มพื้นที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ด้านหลังแฟลตแพทย์ เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นสวัสดิการแก่เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล เพิ่มพื้นที่สำหรับจอดรถรับ – ส่ง ผู้ป่วย และที่พักรับ – ส่ง ผู้ป่วยรอกลับบ้าน

***ปรับปรุงล่าสุด 31 มีนาคม 2566